แหล่งท่องเที่ยว

1.วัดพระธาตุดอยเวา
            เป็นวัดอันเป็นที่ประดิษฐานพระธาตุดอยเวา พระธาตุที่เชื่อกันว่า มีความเก่าแก่เป็นรองพระธาตุดอยตุง พระธาตุดอยเวานั้น ตั้งอยู่บนยอดดอยเวา แต่พระอุโบสถและเขตสังฆาวาสจะอยู่ที่เชิงดอย ผู้ที่จะขึ้นไปนมัสการต้องเดินขึ้นบันไดไปนมัสการ ซึ่งข้างบนเป็นจุดชมทัศนียภาพสองฝั่งสาย สามารถเห็นทัศนียภาพได้รอบทิศ
ประเพณี
            ปัจจุบันมีประเพณีนมัสการพระธาตุในทุกๆปี โดยจะจัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 เหนือ (ตรงกับเดือน 3 ใต้ คือ วันมาฆบูชา) และมีประเพณีสรงน้ำพระธาตุ ในวันสงกรานต์ ของทุกปี
สิ่งที่น่าสนใจ
            บริเวณโดยรอบองค์พระธาตุบนยอดนั้น ยังเป็นที่ตั้งของไพชยนต์ปราสาท ซึ่งเป็นวิหารขนาดเล็ก ประดิษฐานพระแก้วมรกตจำลอง (หรือโดยนัยว่าเป็นพระอินทร์) และมีรูปปั้นแมงป่องยักษ์ เพื่อรำลึกถึงพระองค์เวา (เวา ภาษาล้านนาแปลว่า แมงป่อง) และมีพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ให้สักการบูชา นอกจากนี้ยังมีจุดชมทัศนียภาพสองฝั่งสายด้วย ปัจจุบันได้มีถนนขึ้นและลงดอยแล้ว เป็นถนนคอนกรีตอย่างดี ใช้ได้ทุกฤดูกาล แต่ทางค่อนข้างชัน





2.จุดผ่านแดนถาวรแม่สาย 
ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 117 หมู่ที่ 10 บ้านป่ายางผาแตก ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ประเทศไทย เชื่อมต่อกับ ด่านพรมแดนท่าขี้เหล็ก แขวงท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน ประเทศพม่า จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2540[1] เป็นที่ตั้งของ ด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดเชียงราย และ ด่านศุลกากรแม่สาย

ด่านตรวจคนเข้าเมือง
ประวัติ
ด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดเชียงราย ก่อตั้งประมาณปี พ.ศ. 2480 ใช้ชื่อว่า "ด่านตรวจคนเข้าเมืองแม่สาย" ต่อมาในปี พ.ศ. 2521 ยกฐานะเป็นด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัด มีตำแหน่งสารวัตร เป็นหัวหน้าด่าน โดยใช้ชื่อ "ด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดเชียงราย" ในปี พ.ศ. 2536 ยกฐานะเป็นราชการบริหารส่วนกลาง เป็นด่านตรวจคนเข้าเมืองระดับชั้นที่หนึ่ง ระดับกองกำกับการ มีผู้กำกับการเป็นหัวหน้าด่าน
พื้นที่รับผิดชอบ
ด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดเชียงราย มีพื้นที่ในเขตรับผิดชอบ 2 จังหวัดคือ จังหวัดเชียงราย และจังหวัดพะเยา โดยมี ด่านตรวจคนเข้าเมืองอยู่ในความปกครอง ดังนี้
ด่านตรวจคนเข้าเมืองเชียงแสน ตั้งอยู่ ณ ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
ด่านตรวจคนเข้าเมืองเชียงของ ตั้งอยู่ ณ ตำบลเวียง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย
ด่านตรวจคนเข้าเมืองท่าอากาศยานเชียงราย ตั้งอยู่ ณ ภายในท่าอากาศยานนานาชาติแม่ฟ้าหลวงเชียงราย ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย




3.ตำนานดอยนางนอน
ตำนานเรื่องแรก
เรื่องตำนานดอยนางนอนนี้ เล่ากันว่า นานมาแล้ว ณ เมืองเชียงรุ้ง สิบสองปันนา มีเจ้าหญิงองค์หนึ่ง มีพระสิริโฉมงดงามเป็นอย่างยิ่ง ได้แอบรักกับชายเลี้ยงม้าในวัง อันเป็นการผิดกฏตามโบราณราชประเพณี จึงจำต้องหลบหนีตามกันมา จนกระทั่งถึงที่ราบแห่งหนึ่งใกล้แม่น้ำโขง ช่วงเวลาที่ทั้งคู่หลบหนีมาด้วยกันนั้น เจ้าหญิงก็ทรงพระครรภ์ได้หลายเดือนแล้ว จึงเสด็จต่อไปไม่ไหว นางจึงบอกพระสวามีว่าจะประทับรออยู่ที่นี่ ส่วนสวามีก็บอกนางว่าจะไปหาอาหารมาให้ อย่าไปไหนนะ ว่าแล้วชายหนุ่มก็เดินทางออกไปหาอาหารในป่านั้น แต่ทว่าชายหนุ่มนั้นจากไปนานแล้วไม่กลับมาเสียที พอเจ้าหญิงมาได้ทราบข่าวอีกที ปรากฏว่าชายหนุ่มผู้นั้นถูกฆ่าโดยทหารของพระราชบิดาของเจ้าหญิง ซึ่งได้สะกดรอยตามมาตลอดนั่นเอง ด้วยความเสียพระทัย นางจึงใช้ปิ่นปักผม แทงพระเศียรของพระองค์จนโลหิตไหลออกมาเป็นสายจนถึงแก่พระชนม์ชีพ และสายพระโลหิตที่ได้หลั่งไหล่ออกมานั้นได้กลายมาเป็นต้นแม่น้ำแม่สายในทุกวันนี้ ส่วนพระวรกายของพระองค์ที่นอนเหยียดยาวจาก ทิศใต้จรดทิศเหนือ ก็กลายเป็นดอยนางนอนจวบจนทุกวันนี้ และส่วนของพระอุทร(ท้อง)ก็เป็นดอยตุง
เส้นทางที่จะไปยังอำเภอแม่จันนั้น มีขุนเขาทอดตัวคล้ายผู้หญิงนอนเหยียดยาว จึงเรียกว่า ดอยนางนอน เดิมชื่อ ดอยตายสะหรือดอยสามเส้า ซึ่งสอดคล้องกันกับตำนานลาวจก เทวบุตรอย่างแนบแน่น ดอยส่วนที่ศีรษะเรียกว่า ดอยจ้อง หรือดอยจิกจ้อง (เดิมเรียกดอยนี้ว่า ดอยท่าหรือดอยต้า) เป็นดอยของลูกชายปู่เจ้าลาวจกที่รอคอยพ่อ ดอยลูกถัดมาเรียกว่า ดอยย่าเฒ่า ซึ่งเป็นภรรยาของปู่เจ้าลาวจก ส่วนดอยอีกลูกหนึ่งคือ ดอยดินแดง หรือดอยปู่เจ้าลาวจก หรือเป็นที่รู้จักกันดีในนามของ ดอยตุง
เชื่อกันว่า ดอยทั้ง ๓ นี้เคยเป็นที่อยู่อาศัยของลาวจักราช ผู้เป็นต้นราชวงศ์ของพญามังราย ก่อนที่จะเคลื่อนย้ายมาสร้างเมืองหิรัญนครเงินยาง เหนือดอยดินแดงเป็นที่ประดิษฐานพระธาตุดอยตุง อันถือเป็นปฐมธาตุแห่งแรกของภาคเหนือ




4. วัดถ้ำปลา หรือ วัดพุทธสถานถ้ำปลา 
            ตั้งอยู่ที่บ้านถ้ำปลา หมู่ที่ 14 ตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดย ถ้ำปลา มีลักษณะเป็นลำธารเล็ก ๆ ไหลออกจากใต้ภูเขาหินปูน ไหลทะลุผ่านภูเขาหลายเส้นทางโดยไหลออกทางหน้าปากถ้ำด้านทิศตะวันออกสายน้ำ เหล่านี้มีต้นกำเนิดมาจาก น้ำตกห้วยเนี้ย ถ้ำนี้วัดความกว้างได้ประมาณ 2.50 เมตร ความสูงวัดจากฝั่งน้ำขึ้นไป สูงประมาณ 1.50 เมตร น้ำลึกประมาณ 0.50 เมตร และภายในถ้ำยังมีพระพุทธรูปศิลปะพม่า สร้างขึ้นโดยพระภิกษุชาวพม่า ประชาชนทั่วไปเรียกว่า "พระทรงเครื่อง" เป็นที่เลื่อมใสของประชาชนในแถบนี้เป็นอย่างมาก
ในอดีตถ้ำนี้นักท่องเที่ยวสามารถเดินเข้าไปในถ้ำได้ลึกประมาณ 10 เมตร และมักจะพบเศษกระเบื้องดินเผา (ดินขอ) สมัยโบราณไหลมาตามน้ำ นอกจากนี้ บริเวณปากน้ำยังพบก้อนหินขนาดใหญ่ 3 ก้อน และลำธารที่น้ำไหลออกมานี้มีความลึก ประมาณ 3 เมตร มี "ปลาพวงเงิน" และ "ปลาไม้หีบ" แหวกว่ายไปมา สามารถมองเห็นได้ชัดเจน โดยเฉพาะในตอนเช้าตรู่ พระ สามเณร และเด็กวัดมักจะให้ข้าวเป็นอาหาร ต่อมาประมาณปี พ.ศ 2526 พระสงฆ์ที่จำพรรษา ชื่อ พระสาม ซึ่งตาบอดทั้ง 2 ข้าง ได้ปรับปรุงและบูรณะปฎิสังขรณ์ โดยขุดลอกขยายบริเวณปากถ้ำและปรับก้อนหินให้เป็นบันไดทางเข้าถ้ำ บริเวณที่ต่อเนื่องกับเปลวปล่องฟ้าซึ่งอยู่ทางด้านทิศใต้
ตำนาน "วัดถ้ำปลา"
            มีตำนานเล่าว่า ... เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดสัตว์และออกบิณฑบาตที่เมืองโยนกนครไชยบุรีศรีช้างแสน ได้ดำเนินเลียบเชิงเขามายังถ้ำแห่งหนึ่ง (ถ้ำเปลวปล่องฟ้าในปัจจุบัน) ปรากฏว่ามีชาวบ้านนำปลาหนีบไม้ปิ้งมาใส่บาตร พระพุทธเจ้าได้ทรงอธิฐานให้ปลากลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง จากนั้นได้ปล่อยลงรูเหวในถ้ำ เกิดเป็นธารน้ำไหลออกมาทางหน้าผาด้านตะวันออก จากนั้นพระพุทธเจ้าทรงนำก้อนหินปิดรูเหวที่เทน้ำลงไป และนำเส้นพระเกศาไว้ในหินให้เป็นที่สักการะบูชาของคนต่อไป จนกระทั้งราวพุทธศตวรรษที่ 15 เจ้าอุชุตราช ผู้ครองโยนกนคร ได้สถาปนาพระเจดีย์และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในถ้ำ นับแต่นั้นมาจึงเรียกกันว่า "ถ้ำปลา"
           ทั้งนี้ "ถ้ำปลา" มีลักษณะเป็นโพรงหินกว้างใหญ่ลึกเข้าไปในภูเขา อยู่ระดับต่ำกว่าพื้นดิน มีน้ำใสเย็นไหลออกมาตลอดปี ในอดีตมีปลาชุกชุมตามธรรมชาติเวียนว่ายอยู่ในแอ่งบริเวณปากถ้ำ เรียกว่า "ปลาพวงหิน" หรือ "ปลาพุง" ลักษณะรูปร่างกลมยาว มีเกล็ดตามลำตัวคล้ายปลาช่อน แต่สีออกน้ำเงินเข้ม มีแถบสีน้ำเงินพาดสีข้าง ลำตัวยาวร่วมคืบ และยังมีปลาสวยงามอีกหลายชนิด ซึ่งปัจจุบันได้สูญพันธุ์ไปแทบไม่เหลือให้เห็น ซึ่งปัจจุบันมีผู้นำปลาสวยงามมาปล่อยเป็นจำนวนมาก เช่น ปลาดุก ปปลาคาร์ฟ ปลาไหล ปลาทับทิม ปลาเงินปลาทอง ปลาไน และ เต่า ฯลฯ





สิงห์ ปาร์ค (Singha Park) หรือที่หลาย ๆ คนเรียกว่า ไร่บุญรอด ตั้งอยู่ริมถนนสายเด่นห้า-ดงมะดะ อำเภอเมือง ห่างจากเขตชุมชนเมืองเชียงราย ประมาณ 9 กิโลเมตร ในพื้นที่ประมาณ 8,000 ไร่ ครอบคลุม 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลดอยฮาง ตำบลรอบเวียง ตำบลป่าอ้อดอนชัย และตำบลแม่กรณ์ ความสูงของพื้นที่เฉลี่ย 450 เมตร เหนือจากระดับน้ำทะเล ในฤดูหนาวอากาศค่อนข้างเย็นสบาย

           สภาพของพื้นที่โดยทั่ว ๆ ไปเป็นที่ลาด-เนินเขา มีภูเขาเล็ก ๆ พื้นที่มีความลาดเทปานกลาง เป็นพื้นที่เพาะปลูกพื้นหลากหลายชนิด เช่น ชาอู่หลงสายพันธุ์จินซวน (Jin Xuan) หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อ ชาอู่หลงเบอร์ 12 เป็นชาสายพันธุ์ไต้หวัน ปลูกบนพื้นที่กว่า 600 ไร่ จำนวนกว่า 761,000 ต้น พื้นที่ปลูกยางพารากว่า 2,700 ไร่ พุทราพันธุ์ซื่อหมี่ กว่า 100 ไร่, สตรอว์เบอร์รี อีกหนึ่งสุดยอดที่มาพร้อมลมหนาว ซึ่งที่ไร่บุญรอดจะปลูกสตรอว์เบอร์รีในพื้นที่ 4 ไร่ สายพันธุ์พระราชทาน 80 เป็นเกษตรกรรมผสมผสาน หมดฤดูกาลจะปลูกแคนตาลูปและมะเขือเทศพันธุ์เลื้อย โดยสตรอว์เบอร์รีจะให้ผลผลิตมกราคม-กุมภาพันธ์ และพืชผักผลไม้เมืองหนาวอีกหลากหลายชนิด
           ทั้งนี้ สิงห์ ปาร์ค เปิดบริการให้ชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 10.00–16.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 08 0900 2686 หรือเว็บไซต์ boonrawdfarm.com และ เฟซบุ๊ก Boon Rawd Farm




พระธาตุดอยตุง ตั้งอยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 17.5 บนทางหลวงหมายเลข 1149 เป็นที่บรรจุพระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) ของพระพุทธเจ้า นำมาจากมัธยมประเทศ นับเป็นครั้งแรกที่พระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ได้มาประดิษฐานที่ล้านนาไทย เมื่อก่อสร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุนี้ ได้ทำธงตะขาบ (ภาษาพื้นเมืองเรียกว่า ตุง) ใหญ่ยาวถึงพันวา ปักไว้บนยอดดอย ถ้าหากปลายธงปลิวไปไกลถึงเมืองไหน ก็จะกำหนดเป็นฐานพระสถูป เหตุนี้ดอยซึ่งเป็นที่ประดิษฐานปฐมเจดีย์แห่งล้านนาไทย จึงปรากฏนามว่า ดอยตุง

           ทั้งนี้ พระธาตุดอยตุงเป็นปูชนียสถานที่สำคัญ เมื่อถึงเทศกาลนมัสการพระธาตุดอยตุงจะมีพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและเพื่อนบ้านจากประเทศใกล้เคียง เช่น ชาวเชียงตุงในรัฐฉาน สหภาพพม่า ชาวหลวงพระบาง เวียงจันทน์ เดินทางเข้ามานมัสการทุกปี   








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น